ซัพพลายเออร์โอดสุดอั้น พาเหรดขึ้นราคาสินค้ายกแผง หลังแบก “ต้นทุนน้ำมัน-วัตถุดิบ” หลังแอ่นมาตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา ทยอยแจ้งยี่ปั๊ว-ซาปั๊ว รายการสินค้านำร่อง “อาหาร-เครื่องดื่ม-ผงซักฟอก-บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป-ชูกำลัง” ล่าสุดลามถึงอาหารหมา-แมว เผยจ่อคิวเตรียมปรับตามอีกเพียบ ขณะที่สินค้าควบคุมกุมขมับ แห่ยื่นขออนุญาตปรับราคาเพียบ แต่กรมการค้าภายในเบรก-ขอความร่วมมือตรึงราคาไว้ก่อน จับตาอัตราเงินเฟ้อขยับดันค่าครองชีพพุ่ง
ผลพวงจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาจนถึงขณะนี้ที่ยังถือว่าอยู่ในช่วง “ขาขึ้น” ประกอบกับปัจจัยจากเรื่องของวัตถุดิบสินค้าหลาย ๆ อย่างที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากผลกระทบของการระบาดของโควิด-19ที่ทำให้ระบบซัพพลายเชนสินค้าหลาย ๆ อย่างมีปัญหา ได้เริ่มส่งผลกระทบกับบรรดาผู้ผลิตสินค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแง่ของต้นทุนที่เพิ่มขึ้น ล่าสุดสินค้าหลาย ๆ อย่างได้เริ่มทยอยปรับราคา หลังจากที่แบกรับต้นทุนที่เพิ่มขึ้นมาระยะหนึ่ง
ซัพพลายเออร์แห่ขอปรับราคา
แหล่งข่าวระดับสูงจากบริษัทผู้ผลิตอาหารกระป๋องรายใหญ่เปิดเผยว่า จากปัญหาต้นทุนทั้งจากราคาน้ำมันและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาผู้สินค้าอุปโภคบริโภคจำนวนมากได้ทยอยยื่นเรื่องการขออนุญาตราคาสินค้าไปยังกรมการค้าภายใน แต่กรมการค้าภายในไม่อนุญาตและขอความร่วมมือให้ตรึงราคาสินค้าไปก่อน
ส่วนสินค้าที่ไม่ได้อยู่ในสินค้าควบคุมได้มีการปรับขึ้นหลายรายการ อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้หากมีการปรับค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำใหม่ โดยส่วนตัวคาดว่ากรมการค้าภายในอาจจะอนุญาตให้ผู้ประกอบการปรับขึ้นราคาสินค้าได้บ้าง เพื่อบรรเทาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เพราะตอนนั้นคงแบกรับไม่ไหว ซึ่งเป็นด่านสุดท้ายที่จะเห็นว่าสินค้าทุกอย่างต้องปรับขึ้นราคาแน่
แหล่งข่าวจากธุรกิจปลากระป๋องรายใหญ่ยอมรับว่า ขณะนี้ผู้ผลิตรับภาระต้นทุนที่หนักมาก สำหรับปลากระป๋องเฉพาะแพ็กเกจจิ้งอย่างเดียวต้นทุนเพิ่มขึ้นมาถึง 7% และตอนนี้สิ่งที่เจอคือราคาปลาขึ้นด้วยและถือว่าสูงมาก และเนื่องจากปลากระป๋องเป็นสินค้าที่มาร์จิ้นค่อนข้างต่ำ ผู้ประกอบการจึงลดงบฯการจัดโปรโมชั่นส่งเสริมการขายในโมเดิร์นเทรดลง
ส่วนในช่องทางเทรดิชั่นนอลเทรดก็มีการปรับลดจำนวนการแถมลง ด้วยการปรับรายการส่งเสริมการขาย เช่น ซื้อ 100 ลัง แถม 5 ลัง ก็จะลดเหลือแถมแค่ 1-2 ลัง ซึ่งตอนนี้แบรนด์หลัก ๆ ยังไม่สามารถปรับขึ้นราคาขายปลีกได้ เนื่องจากปลากระป๋องเป็นสินค้าควบคุมและต้องขอใบอนุญาตจากกรมการค้าภายใน
นายสมเจตน์ ปัญจวัฒนางกูร กรรมการผู้จัดการ บริษัท โฟร์ ฟูดส์ จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ผงปรุงรสแบรนด์ ไทเชฟ, กู้ด อะเดย์ กล่าวในเรื่องนี้ว่า ที่ผ่านมาผู้ประกอบการมีปัญหาต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตอนนี้ซัพพลายเออร์หลายรายเริ่มแบกรับต้นทุนไม่ไหว บางรายต้องปรับขึ้นราคาสินค้า หรือลดส่วนลดของแถมลง สำหรับบริษัทเองตอนนี้ยังไม่มีการปรับราคาสินค้าและพยายามใช้การบริหารจัดการมาช่วยเพื่อประคับประคองสถานการณ์ไปก่อนจนกว่าจะแบกรับภาระไม่ไหว
สินค้าอั้นไม่อยู่-แจ้งขึ้นราคา
นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า ตั้งแต่ช่วงต้นเดือนมกราคมที่ผ่านมา ซัพพลายเออร์สินค้าหลาย ๆ อย่างได้ทยอยแจ้งปรับขึ้นราคาสินค้าเป็นระยะ ๆ โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภค เครื่องดื่ม รวมถึงขนม ฯลฯ ปัจจัยหลักเป็นผลมาจากต้นทุนเรื่องราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับต้นทุนวัตถุดิบหลาย ๆ อย่างที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัว ตัวอย่างที่ชัดเจนหลัก ๆ เช่น น้ำมันปาล์ม ที่ปัจจุบันราคาขยับขึ้นมาเป็น 65-70 บาท/ขวด (ลิตร) จากเดิมที่ขาย 35-40 บาท/ขวด
ช่วงนี้การปรับขึ้นราคาของสินค้าต่าง ๆ มีหลายรูปแบบ นอกจากการปรับราคาขายส่งแล้ว ซัพพลายเออร์สินค้าอุปโภคบริโภคบางรายยังหันมาใช้วิธีการขึ้นราคาทางอ้อม ด้วยการทำสินค้าสูตรใหม่ออกมาจำหน่าย หรืออาจจะวิธีการใช้กลยุทธ์ไซซิ่งด้วยการปรับขนาดบรรจุภัณฑ์ให้เล็กลงเพื่อขายในราคาเท่าเดิม เพื่อไม่ให้กระทบความรู้สึกผู้บริโภค ตลอดจนการลดงบฯการทำตลาดรูปแบบต่าง ๆ ลง ทั้ง gift voucher ชิงโชค ซื้อ 1 แถม 1 การลดของแถมให้ร้านค้า เป็นต้น
แหล่งข่าวจากบริษัทผู้ค้าปลีก-ค้าส่งรายใหญ่ในภาคอีสานกล่าวไปในทิศทางเดียวกันว่า ล่าสุดซัพพลายเออร์สินค้าหลาย ๆ อย่างได้ ทยอยแจ้งปรับขึ้นราคาขายส่งสินค้า โดยเฉพาะกลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม ตั้งแต่ลูกอม หมากฝรั่ง บิสกิต บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง เครื่องดื่มชูกำลัง ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ผงซักฟอก น้ำยาปรับผ้านุ่ม เป็นต้น
ล่าสุด (4 ก.พ.) ที่เพิ่งแจ้งเรื่องการปรับขึ้นราคาคือ กลุ่มอาหารสัตว์ (สุนัข-แมว) หลังจากก่อนหน้านี้ที่ซัพพลายเออร์สินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ ทั้งยูนิลีเวอร์, พีแอนด์จี, เนสท์เล่ เป็นต้น ต่างก็ได้ทยอยแจ้งปรับราคาสินค้าไปบ้างแล้วตั้งแต่ช่วงปลายปีที่ผ่านมา
แหล่งข่าวรายนี้กล่าวว่า ที่ผ่านมาสินค้าที่ไม่ใช่สินค้าควบคุมส่วนใหญ่จะทยอยปรับราคาขึ้นไปบ้างแล้ว เฉลี่ย 5-10% ส่วนสินค้าควบคุม กรมการค้าภายในยังไม่อนุญาต ส่วนใหญ่ก็ต้องปรับรูปแบบการทำตลาด เช่น การลดส่วนลดหรือของแถมลง หรือไม่ก็ต้องส่งสินค้าใหม่ ราคาใหม่ออกมาจำหน่าย
อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไปคาดว่าจะมีสินค้าอีกหลายอย่างที่เตรียมจะประกาศปรับขึ้นตามมาอีกเป็นระยะ ๆ เช่น ผ้าอนามัย น้ำตาลทราย น้ำปลา สบู่ก้อน ฯลฯ
“การปรับลดการให้ส่วนลด หรือลดของ (สินค้า) แถม จริง ๆ แล้วก็คือการขึ้นราคาทางอ้อม เพียงแต่ว่าผู้บริโภคอาจจะสัมผัสไม่ได้ เพราะราคาขายจะปรับขึ้นเพียงเล็กน้อยอาจจะ 50 สตางค์ หรือ 1 บาท ซึ่งไม่เกินราคาป้าย
ประกอบกับโมเดิร์นเทรดจะมีการจัดโปรโมชั่นราคาเป็นประจำ จากการพูดคุยกับซัพพลายเออร์หลายรายพบว่า ตอนนี้ผู้ผลิตแทบทุกสินค้ามีภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น คาดว่าคงอึดได้ไม่เกิน 2-3 เดือน ราคาสินค้าจะปรับขึ้นทั้งหมด”
จับตาเงินเฟ้อดันค่าครองชีพพุ่ง
นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics ประเมินว่า แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในปี 2565 จะอยู่ที่ระดับ 2% แต่จะเห็นการเร่งตัวสูงไปแตะระดับ 4% ในช่วงไตรมาสที่ 1 เนื่องจากแรงกดดันจากปัจจัยจากหมวดพลังงาน โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่ส่งผลไปยังต้นทุนหมวดอาหารสดปรับเพิ่มขึ้น
ประกอบกับการเกิดโรคระบาดของสุกร จึงเป็นสาเหตุทำให้แรงกดดันต่อราคาในหมวดอาหารสดจะคงยังลากยาวไปถึงสิ้นปี 2565 ท่ามกลางภาวะที่เงินเฟ้อเร่งตัวเร็วโดยเฉพาะในช่วงแรกของปี 2565 ส่งผลต่อภาระค่าครองชีพที่สูงขึ้น จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ประชาชนต้องปรับวิธีการใช้จ่ายให้เหมาะสม
ขณะที่นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคหรือเงินเฟ้อทั่วไปเดือนมกราคม 2565 เท่ากับ 103.01 สูงขึ้น 3.23 เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน สูงขึ้นในรอบ 8 เดือน นับตั้งแต่เมษายน 2564 และลดลง 2.17% จากเดือนก่อนหน้า และเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้เป็นผลมาจากราคาพลังงานสูงขึ้น 19.22%
รวมไปถึงกลุ่มสินค้าอาหารสด ค่าวัตถุดิบ ค่าขนส่ง แรงงาน ส่งผลต่ออัตราเงินเฟ้อ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นในเดือนนี้ยังอยู่ในระดับปานกลางและค่อนข้างต่ำเกือบถึงอ่อนและยังอยู่ในกรอบที่ประเมิน และเหตุที่เงินเฟ้อขึ้นจากปัจจัยภายหลังคือ พลังงาน ซึ่งกระทบเงินเฟ้อ 2.25% หากพิจารณาในกลุ่มอื่น เช่น ไก่สด ไข่ไก่ เนื้อหมู ส่งผลต่อเงินเฟ้อน้อยมากเพียง 0.67%
สำหรับเงินเฟ้อในเดือนกุมภาพันธ์ 2565 คาดว่าจะปรับตัวสูงขึ้นในระดับที่ไม่มากนัก สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจทั้งด้านอุปสงค์และอุปทานทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศที่ปรับสูงขึ้นต่อเนื่องตามราคาในตลาดโลก ประกอบกับราคาฐานของเดือนเดียวกันในปีที่ผ่านมายังอยู่ในระดับต่ำ
โดยปัจจัยภายนอกที่ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น อาทิ ค่าขนส่ง และต้นทุนโลจิสติกส์ที่สูงขึ้น ส่งผลให้ราคาอาหารทั่วโลกปรับตัวเพิ่มขึ้น รวมไปถึงการติดตามสถานการณ์ก๊าซหุงต้ม ค่าไฟฟ้า ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญของการผลิตสินค้าและจะมีผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อได้
อย่างไรก็ตาม จากการติดตามรายการสินค้ามี 242 รายการสินค้าที่ปรับเพิ่มขึ้น เช่น น้ำมันเชื้อเพลิง เนื้อสุกร น้ำมันพืช ค่ากระแสไฟฟ้า กระดูกซี่โครงหมู ไข่ไก่ ไก่สด กับข้าวสำเร็จรูป อาหารกลางวัน สินค้าที่ลดลง 64 รายการ เช่น ข้าวสารเจ้า ข้าวสารเหนียว หัวหอมแดง พริกสด ส้มเขียวหวาน ขิง ต้นหอม ค่าเช่าบ้าน ค่าธรรมเนียมการศึกษา
ส่วนสินค้าที่ไม่เปลี่ยนแปลง 64 รายการ เช่น ค่าบริการใช้โทรศัพท์มือถือ ค่าบริการใช้อินเทอร์เน็ต ค่าเดินทางไปเยี่ยมญาติและทำบุญ ค่าเบี้ยประกันภัยรถ ค่าภาษีรถยนต์ประจำปี ค่าเบี้ยประกันภัยคุ้มครองผู้ประสพภัยจากรถ
- ประยุทธ์ ห่วงของแพง สั่งติดตามการกักตุนสินค้า
- ปัญหาของแพง
- หนี้ท่วม-ของแพง ตรุษจีนปีนี้กร่อย วูบ 5.3 พันล้าน