แม้ทั่วโลกจะมีการกระจายวัคซีนเพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และกิจกรรมเศรษฐกิจเริ่มกลับมาดำเนินตามปกติ แต่การกระจายวัคซีนที่ไม่เท่าเทียมกัน รวมถึงโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่มีอัตราการระบาดรุนแรงกว่าเชื้อเดิม คงจะอีกนานกว่าการเดินทางระหว่างประเทศจะกลับมาอยู่ในระดับเดียวกับเมื่อช่วงปี 2019
สมาคมขนส่งทางอากาศระหว่างประเทศ (IATA) คาดการณ์ว่า ปี 2021 การเดินทางด้วยสายการบินจะอยู่ในระดับ 33-38% ของปี 2019
นอกจากนี้ “บิล เกตส์” ผู้ก่อตั้ง “ไมโครซอฟท์” คาดการณ์ว่า แม้โลกจะสามารถหาทางรับมือกับวิกฤตโควิด-19 ได้แล้ว แต่การท่องเที่ยวเพื่อธุรกิจ (business travel) จะลดลงถึง 50% เช่นเดียวกับ “เจฟฟรีย์ โกห์” ซีอีโอพันธมิตรสายการบิน “สตาร์อัลไลแอนซ์” (Star Alliance) มองว่า ตลาดเซ็กเมนต์นี้จะลดลงถึง 30%
แม้สายการบินจะออกโปรโมชั่นส่วนลดหรือสิทธิพิเศษต่าง ๆ เพื่อให้มีการเดินทางมากที่สุด แต่สถานการณ์ที่ยังคงไม่แน่นอนในปีนี้ทำให้แต่ละสายการบินต้องหาทางรอดอื่นที่ไม่ใช่การบิน
แชนเนล นิวส์ เอเชียรายงานว่า สายการบินทั่วโลกต้องทำ 3 อย่างเพื่อที่จะยังสามารถอยู่รอดได้ ประกอบด้วย การเพิ่มช่องทางรายได้อื่น, การรักษามาตรฐานทักษะพนักงาน และการเปลี่ยนโมเดลธุรกิจให้เข้ากับตลาดยุคหลังโควิด-19 พร้อมกับยกตัวอย่าง 2 โลว์คอสต์แอร์ไลน์ “แอร์เอเชีย” และ “สกู๊ต” มาเป็นกรณีศึกษา
สำหรับ “แอร์เอเชีย” ภายใต้การบริหารของ “โทนี เฟอร์นานเดส” ได้เร่งหาช่องทางนำรายได้เข้าบริษัทหลังจากธุรกิจการบินไม่สามารถดำเนินไปตามปกติ เช่น การขยายธุรกิจโลจิสติกส์ ขนส่งสินค้าทางอากาศ ภายใต้บริษัท “เทเลพอร์ต” โดยเปลี่ยนเครื่องบินโดยสารมาเป็นเครื่องบินขนส่งสินค้า รวมถึงเปิดตัวระบบเครือข่ายดิจิทัล “เฟรตเชน” (freightchain) ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชนให้ผู้ส่งสินค้าสามารถจองและยืนยันเครื่องบินขนส่ง พร้อมติดตามระบบซัพพลายเชนสินค้าได้
พร้อมกับเปิดตัว “แอร์เอเชีย ฟู้ด” บริการดีลิเวอรี่อาหารที่มาเลเซีย สิงคโปร์ และมีแผนขยายธุรกิจไปตามหัวเมืองต่าง ๆ ทั่วอาเซียนภายในปีนี้ และยังวางแผนหาช่องทางรายได้เพิ่มเติมอย่างบริการแท็กซี่ทางอากาศ ขนส่งวัตถุดิบอาหารสดข้ามประเทศ และบริการ
ดีลิเวอรี่ผ่านโดรน เป็นต้น
ส่วน “สกู๊ต” ในเครือสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส (SIA) กรุ๊ป ก็ได้ร่วมมือกับรัฐบาลสิงคโปร์ให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินและนักบินถึง 400 คน ไปทำงานช่วยเหลือตามสถานพยาบาล หรือหน่วยงานต่าง ๆ ช่วงที่โรคโควิด-19 ระบาดหนัก
แหล่งข่าวระบุว่า การเคลื่อนย้ายแรงงานส่วนนี้ไปช่วยเหลืออุตสาหกรรมบริการอื่น ช่วยลดภาระต้นทุนค่าจ้างพนักงานของบริษัท ทั้งทำให้พนักงานสามารถรักษามาตรฐานการสื่อสารและบริการดูแลลูกค้า เนื่องจากทักษะต่าง ๆ ภายใต้บทบาทใหม่ไม่ต่างจากทักษะบริการบนเครื่องบิน และสามารถจ้างแรงงานกลุ่มนี้กลับมาทำงานบนเครื่องบินได้หลังอุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว
พนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของเครือสิงคโปร์ แอร์ไลน์ส ก็เป็นที่ยอมรับด้านบริการที่ยอดเยี่ยม ซึ่งการกระจายตัวไปตามหน่วยงานเหล่านี้ถือเป็นการช่วยยกระดับคุณภาพการบริการให้กับเซ็กเตอร์อื่น ๆ ด้วย และยังสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อสายการบิน
นอกจากนี้ เครือสายการบินแห่งนี้นำจุดเด่นดังกล่าวมาต่อยอดเปิดธุรกิจ “สิงคโปร์ แอร์ไลน์ส อะคาเดมี” เมื่อ พ.ย.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นคอร์สอบรมการบริการลูกค้า และจัดการวิกฤต สำหรับองค์กรและบริษัท
ไม่ว่าความพยายามการขยายช่องทางรายได้อื่น ๆ ที่ไม่ใช่การบิน หรือการรักษาระดับมาตรฐานของพนักงานจะเป็นทางออกของธุรกิจสายการบินในระยะสั้นหรือระยะยาว แต่หลายฝ่ายก็ยอมรับว่ามีแนวโน้มสูงที่ธุรกิจการบินจะไม่มีวันกลับไปเหมือนช่วงก่อนโรคโควิด-19 ระบาด