ธุรกิจ-ครัวเรือน ยังต้องการสินเชื่อสูง “แบงก์ชาติ” เผยแนวโน้มปี 65 ทุกขนาดธุรกิจต้องการเงินหมุน ด้าน”ครัวเรือน” สินเชื่อรถมาแรง แต่ปี 2565 น่าจะแผ่วจากโอมิครอน สวนทางสินเชื่อแบบอื่น
วันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2565 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผ่านมาเกือบ 2 เดือนของปี 2565 ธนาคารและสถาบันการเงินหลายแห่งพากันนำเสนอแผนและเป้าหมายการเติบโตตลอดทั้งปี โดยหนึ่งในผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เกือบทุกแห่งใช้เป็นอาวุธคือ “สินเชื่อ” ซึ่งสอดรับกับข้อมูลศูนย์วิจัยกสิกรไทยที่ระบุว่า
- M-Flow ทางด่วนจ่ายอัตโนมัติ ประชาชนวิจารณ์ยับ หลังปรับหนัก 10 เท่า
- รื้อระบบบำนาญประเทศไทย รับมือ “เศรษฐกิจ-สังคม” สูงวัย
- เหล้าเบียร์ขึ้นราคายกแผง มีนาคม “คอทองแดง” กระอัก
ยอดคงค้างหนี้ครัวเรือนไทยในไตรมาส 3/2564 อยู่ที่ระดับ 14.35 ล้านล้านบาท ขยับขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน ประมาณ 4.2% ซึ่งจากการประเมินพบว่า สัญญาณของการก่อหนี้เพิ่ม เพื่อเสริมสภาพคล่อง และ/หรือรองรับรายจ่ายในชีวิตประจำวันมากขึ้น
สอดคล้องกับการเร่งตัวขึ้นของพอร์ตสินเชื่อส่วนบุคคล ทั้งในส่วนของธนาคารพาณิชย์และผู้ประกอบการในฝั่งนอนแบงก์
จากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นชัดเจนว่า คนไทยยังประสบปัญหาทางการเงินจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำ ซ้ำด้วยการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ทำให้ความต้องการสินเชื่อและเงินด่วนยังมีอยู่มาก
“ประชาชาติธุรกิจ” เปิดรายงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่เกี่ยวข้องกับสินเชื่อ ทั้งในภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน
ภาคบริการกู้สูง ธุรกิจขนาดใหญ่ขอสินเชื่อทำควบรวม
จากรายงานผลการสำรวจภาวะและแนวโน้มสินเชื่อประจำไตรมาส 4 ปี 2564 ระบุว่า ความต้องการสินเชื่อทั้งภาคธุรกิจและครัวเรือนปรับตัวสูงขึ้นทั้งหมด
โดยภาคธุรกิจที่ต้องการสินเชื่อมากที่สุด คือภาคบริการเป็นหลักเพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนสำหรับรองรับกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่กลับมาฟื้นตัว หลังการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดและการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ
ส่วนธุรกิจขนาดใหญ่มีความต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้น เพื่อการควบรวมกิจการ (M&A) และเพื่อการส่งออกสอดคล้องกับแนวโน้มการส่งออกที่ดีขึ้น
ทั้งนี้ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 คาดว่าธุรกิจขนาดใหญ่และ SMEs มีแนวโน้มต้องการสินเชื่อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในทุกสาขาธุรกิจ เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจและเพื่อการส่งออก รวมถึงเพื่อการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร สอดคล้องกับเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่อง โดยธุรกิจขนาดใหญ่ยังต้องการสินเชื่อเพื่อการควบรวมกิจการ (M&A) ต่อเนื่อง
ครัวเรือน: เช่าซื้อรถพุ่งสุด
ขณะที่สินเชื่อภาคครัวเรือน จากข้อมูลไตรมาสที่ 4/2564 ทุกประเภทสินเชื่อความต้องการเพิ่มขึ้นทุกรายการ โดยเฉพาะความต้องการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ที่เพิ่มขึ้นจากผู้ประกอบการออกโปรโมชั่นส่งเสริมการขายมากขึ้น เพื่อกระตุ้นยอดขายที่ถูกกระทบในช่วงก่อนหน้า
ส่วนความต้องการสินเชื่อบัตรเครดิตและอุปโภคบริโภคอื่น เพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากครัวเรือนกลุ่มที่มีเงินออมจำกัดเพื่อใช้จ่ายทั่วไป ขณะที่สินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยยังไม่มากนัก แม้จะมีการผ่อนคลายมาตรการ LTV เป็นการชั่วคราวเมื่อ 21 ต.ค. 2564
คาดการณ์ในช่วงไตรมาสที่ 1/2565 ความต้องการสินเชื่อภาคครัวเรือนมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในเกือบทุกประเภทสินเชื่อ ยกเว้นสินเชื่อรถยนต์ที่มีแนวโน้มปรับลดลง เนื่องจากความต้องการน่าจะลดลงจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนสินเชื่อบ้านและที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการผ่อนคลายมาตรการ LTV
เหล่านี้คือข้อมูลที่สะท้อนชัดเจนว่า ภาคธุรกิจและภาคครัวเรือนยังต้องการ “สินเชื่อ” ต่อไป เป็นเหตุผลให้ธนาคารและสถาบันการเงินแห่ออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบสนองตลาด
- โควิดยืดเยื้อ หนี้ครัวเรือนเพิ่ม ดันยอดคงค้างแตะ 14.35 ล้านล้าน
- สภาพัฒน์คาดปี’65 จีดีพีโต 4% จับตาเงินเฟ้อฉุดเศรษฐกิจ
- รัฐจัดใหญ่ “มหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้สินครัวเรือน” 25 ก.พ.นี้ ที่ไบเทค
ไม่พลาดข่าวสำคัญ เจาะลึกทุกประเด็น
เพิ่มเราเป็นเพื่อนทาง @prachachat