การนิคมฯเร่งเครื่องผลักดันโรงงานสารเคมีอันตราย-เคมีภัณฑ์ เข้านิคมอุตสาหกรรม แม้นิคมส่วนกลางพื้นที่เต็มแล้ว แต่ยังมีนิคมชายแดนเขต SEZ สระแก้ว-สงขลา-ตาก ยังเหลืออยู่ พร้อมจัดโปรโมชั่น-ลดค่าเช่า จูงใจให้โรงงานย้ายเข้ามา แนะนิคมเอกชนถือเป็นโอกาสดีที่จะขายพื้นที่เพิ่มรองรับอุตสาหกรรมเหล่านี้
กรณีเพลิงไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟม บริษัทหมิงตี้เคมีคอล ได้ก่อให้เกิดความกังวลถึงความปลอดภัยในชุมชนรอบ ๆ บริเวณที่โรงงานตั้งอยู่ ท่ามกลางเสียงเรียกร้องให้มีการย้ายโรงงานเหล่านี้เข้าไปอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม เฉพาะทางที่มีระบบบริหารจัดการความปลอดภัยที่ “ดีกว่า” การปล่อยให้โรงงานตั้งอยู่ในชุมชน ทว่าเรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย เนื่องจากโรงงานเหล่านี้ตั้งมาก่อนที่ชุมชนจะเกิดขึ้น จนกลายเป็นปรากฏการณ์ “ชุมชนล้อมโรงงาน” ประกอบกับยังไม่มีกฎหมายที่ใช้บังคับโรงงานให้ย้ายออกไปในกรณีนี้ด้วย
นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เหตุการณ์เพลิงไหม้บริษัทหมิงตี้ฯเป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นโดยไม่คาดคิด ขณะที่มุมมองของภาคเอกชนรวมถึงชุมชนเห็นว่าโรงงานอุตสาหกรรมควรที่จะถูก “ผลักดัน” ให้เข้าไปตั้งในนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมด
เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีการควบคุม กำกับ ดูแลอย่างมีระบบระเบียบและมีมาตรฐาน โดยให้ กนอ.จัดโปรโมชั่นส่วนลดหรือมาตรการจูงใจเพื่อให้โรงงานอยากเข้ามาตั้งในนิคม อาทิ การออกมาตรการจูงใจด้านภาษี, การให้ต่างด้าวถือครองพื้นที่ในนิคมได้
ข้อเสนอเหล่านี้ทางการนิคมฯจะเรียกประชุมผู้บริหารเพื่อหาแนวทางที่จะกำหนดเป็นนโยบายให้เกิดขึ้นจริงในอนาคต โดยก่อนหน้านี้ กนอ.ได้มีแผนจะแก้ไขมาตรฐานนิคมอุตสาหกรรม ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้าไปปรับปรุง พัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน (infrastructure) ทั้งหมดภายในนิคมทั่วประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ต้นทุนต่าง ๆ ในการบริหารจัดการนิคมลดลง และจะนำมาซึ่งการปรับลด “ราคาค่าเช่า” และขายพื้นที่ได้เพิ่มขึ้นในอนาคต
โดยจะพยายามเร่งให้เกิดนโยบายนี้ภายใน 1-2 ปี แต่ที่เร็วที่สุดที่สามารถทำได้ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ก็คือ การเตรียมพิจารณาปรับลดอัตราค่าเช่าและโปรโมชั่นอื่น ๆ มาเป็นแรงจูงใจให้โรงงานย้ายเข้ามาตั้งในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอยู่ในปัจจุบัน
“ตอนนี้พื้นที่ส่วนกลางในนิคมอุตสาหกรรมของ กนอ.เองค่อนข้างเต็มแล้ว จะเหลือที่สมาร์ทปาร์ค จ.ระยอง ซึ่งที่นี่ก็จะรับแค่อุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ (new S-curve) ซึ่งไม่ใช่โรงงานอุตสาหกรรมจำพวกสารเคมีอันตราย แต่ก็ยังมีนิคมชายแดนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) ที่สระแก้ว สงขลา และตาก ที่จะรองรับโรงงานที่ต้องใช้สารเคมีอันตรายเหล่านี้ได้ รวมไปถึงนิคมของเอกชน แต่ก็ขึ้นอยู่กับผู้บริหารนิคมเองด้วย เพราะเป็นผู้พัฒนา-คิดค่าเช่า กนอ.จะไปบังคับให้นิคมเอกชนทำโปรโมชั่นเพื่อดึงโรงงานเหล่านี้เข้านิคมก็ไม่ได้ แต่เราจะลองนำนโยบายนี้ดึงโรงงานไทยที่คิดจะย้ายเข้านิคม เพราะตอนนี้ถือเป็นโอกาสดีที่จะทำโปรโมชั่นจูงใจ” นายวีริศกล่าว
ส่วนมาตรการส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (SEZ) 10 จังหวัดนั้น คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เปิดให้การส่งเสริมกว่า 300 กิจการ หากเป็นกิจการที่อยู่ใน 14 กลุ่มกิจการเป้าหมาย เช่น เกษตร, ประมง, สิ่งทอ, เครื่องนุ่งห่มและเครื่องหนัง, เครื่องเรือน, อัญมณีและเครื่องประดับ, เครื่องมือแพทย์, พลาสติก, กิจการท่องเที่ยว จะได้รับสิทธิประโยชน์ “ยกเว้น” ภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปีและลดหย่อน 50% อีก 5 ปี ส่วนโปรโมชั่นเดิมของ กนอ. ที่นิคมอุตสาหกรรมสะเดา สงขลา และนิคมอุตสาหกรรมสระแก้ว จะเป็นการลดค่าเช่าที่ดิน 1 ปี ซึ่งทั้ง 2 ส่วนหมดเขตไปแล้ว “แต่เราจะมีการพิจารณาจัดโปรโมชั่นใหม่เร็ว ๆ นี้”
ให้สต๊อกสารเคมีแค่พอใช้
ด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า บริษัทหมิงตี้เคมีคอล ได้ถูกสั่งปิดโรงงานไปแล้ว แต่ยังไม่ถอนใบอนุญาตประกอบกิจการ (รง.4) ขณะเดียวกันหากบริษัทหมิงตี้ฯจะลงทุนต่อกระทรวงอุตสาหกรรม จะไม่อนุญาตให้ตั้งโรงงานในพื้นที่เดิมอีกต่อไป เนื่องจากโครงสร้างทั้งหมดได้รับความเสียหาย ไม่มีความปลอดภัย และอยู่ใกล้ชุมชน
“เราจะอนุญาตให้สร้างโรงงานใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมเท่านั้น ส่วนสิทธิประโยชน์ที่จะได้หากตั้งในพื้นที่นิคมขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการส่งเสริมการลงทุนของ BOI” นายสุริยะกล่าว
สำหรับสารสไตรีนโมโนเมอร์ที่เหลืออยู่ประมาณ 1,000 ตัน และกากของเสียที่เกิดขึ้นจากโรงงานหมิงตี้ฯจะถูกนำออกไปกำจัดที่โรงกำจัดขยะอันตราย 3 แห่งคือ บริษัทอัคคีปราการ, โรงกำจัดของ SCG และโรงกำจัดของปูนซีเมนต์นครหลวง โดยได้รับความช่วยเหลือจากบริษัทดาว เคมิคอล ประเทศไทย และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่จะเป็นผู้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 3 วัน
อย่างไรก็ตาม จากข้อมูลพบว่า ในประเทศมีโรงงานในกลุ่มเคมีภัณฑ์ทั้งหมด 446 โรงกระจายอยู่ทั่วประเทศ ระยะสั้นทางกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) จะทำหนังสือแจ้งให้โรงงานปฏิบัติตาม “แผนบริหารความเสี่ยง” อย่างเคร่งครัด โดยให้ประสานกับสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดเพื่อตรวจสอบโรงงานที่มีความเสี่ยงสูงอย่างเร่งด่วน
ส่วนระยะยาวจะใช้ safety application เข้ามาตรวจสอบโรงงานที่อยู่ในกลุ่มความเสี่ยงสูง เช่น มีการใช้สารเคมีอันตราย เพื่อเป็นการป้องกันการรั่วไหลของสารเคมีหรือวิธีการปฏิบัติการดำเนินการต่าง ๆ ที่อาจก่อให้เกิดอันตรายได้
นายประกอบ วิวิธจินดา อธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) กล่าวว่า จะมีการทบทวนแนวทางการเก็บสารเคมีอันตรายไว้ในโรงงาน โดยต่อจากนี้จะกำหนดให้เก็บสารเคมีอันตรายไว้ได้ในระยะสั้น “เพียงเท่าที่จำเป็นสต๊อกไว้แค่พอใช้เท่านั้น” หรือให้สต๊อกไว้ภายนอกโรงงานในพื้นที่ปลอดภัย จากการตรวจสอบย้อนหลังการขอใบอนุญาตของบริษัทหมิงตี้เคมีคอลเมื่อปี 2532 ได้ขอกำลังการผลิตที่ 36,000 ตัน/ปี และขอขยายกำลังการผลิตครั้งล่าสุดในปี 2560 เป็น 40,000 ตัน/ปี
แต่ไม่มีการขยายพื้นที่โรงงานออกมา เพราะเป็นการลงทุนเครื่องจักรเทคโนโลยีเพื่อให้กำลังการผลิตเพิ่มขึ้น ดังนั้นตามคำขอ “บริษัทหมิงตี้ฯจึงได้รับอนุญาตขยายกำลังการผลิต” ถึงบริษัทจะไม่ต้องทำ EIA แต่ก็ต้องประเมินตนเองทุกปี และต้องทำการประเมินผลกระทบด้านความเสี่ยงเช่นกัน
“หมิงตี้ฯขอเพิ่มกำลังการผลิต แต่ไม่ใช่ว่าไม่เพิ่มความสามารถในการบรรจุสารเคมี เพราะบริษัทลงทุนเอาเทคโนโลยีเข้ามามันจะเพิ่มประสิทธิภาพ เพิ่มความสามารถในการผลิตให้มากขึ้น ไม่ใช่ว่าเพิ่มสารเคมีแล้วถังเก็บยังขนาดเท่าเดิม จนทำให้โรงงานระเบิดไฟไหม้
นอกจากนี้เราจะให้ทางให้ดาว เคมิคอล ปตท. IRPC มาช่วยดูและหารือถึงปริมาณการใช้สารเคมีเหล่านี้ว่า ต้องสต๊อกไว้เท่าไรจึงจะเพียงพอ เหมาะสมและไม่เป็นอันตราย แนวทางนี้เราจะนำไปใช้กับกลุ่มโรงงานเสี่ยงทั้งหมด ส่วนการทำแนวกันชน (buffer zone) จะอยู่ภายใต้กฎหมายของผังเมืองเอง ที่จะกำหนดสีพื้นที่และกำหนดระยะของแนวกันชนว่าต้องห่างจากชุมชนกี่กิโลเมตร” นายประกอบกล่าว
นายบรรพต พงศ์ไพโรจน์ ผู้จัดการฝ่ายขาย บริษัทหมิงตี้เคมีคอล กล่าวว่า ทางบริษัทหมิงตี้ฯไต้หวันยืนยันที่จะรับผิดชอบความเสียหายที่เกิดขึ้นทั้งหมดให้กับบ้านเรือนประชาชนโดยรอบ ขณะนี้ได้ตั้งโต๊ะเพื่อรับคำร้องจากประชาชน และได้แจ้งให้ทราบถึงเอกสารที่ต้องเตรียมไว้สำหรับยื่นคำร้อง
ส่วนแผนป้องกันไฟไหม้ตามกฎหมายที่ต้องทำนั้น บริษัทปฏิบัติแผนซักซ้อมไฟไหม้ตามกฎครบถ้วน 2 ครั้ง/ปี ส่วนแผนรับมือในสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น ถังเก็บสารเคมีรั่ว ไม่แน่ใจว่า ที่ผ่านมาได้มีการซักซ้อมส่วนนี้หรือไม่
ไม่ต้องกลัวเม็ดโฟมขาด
ส่วนกรณีที่ว่าเม็ดโฟมประเภท EPS (expandable polystyrene) ซึ่งปัจจุบันมีโรงงานผลิตอยู่ 2 แห่ง ได้แก่ บริษัทหมิงตี้เคมีคอล กำลังผลิต 36,000 ตัน/ปี กับบริษัท IRPC มีกำลังการผลิต 48,000 ตัน/ปี จะขาดแคลนหรือไม่ เนื่องจากบริษัทหมิงตี้ฯต้องหยุดการผลิตไปนั้น มีรายงานข่าวจาก IRPC เข้ามาว่า นอกจากการผลิตภายในประเทศแล้ว ยังมีการนำเข้าเม็ดโฟม EPS จากจีนมาใช้สำหรับขึ้นรูปและถูกนำไปใช้ผลิตบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรม
ทั้งโฟมรองกันกระแทกในกล่องเครื่องใช้ไฟฟ้า กล่องโฟมสำหรับบรรจุอาหารแช่เย็นแช่แข็ง และนำไปใช้ในอุตสาหกรรมก่อสร้าง เช่น โฟมสำหรับรองคอสะพานเพื่อสร้างความยืดหยุ่นในการรับน้ำหนัก ที่รองใต้หลังคาเหล็กเมทัลชีส รวมถึงใช้ในอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ด้วย
“ไม่ต้องกังวลว่า จะมีปัญหาวัตถุดิบไม่เพียงพอ ทาง IRPC ผลิตได้พอสำหรับซัพพอร์ตตลาดในช่วงนี้ นอกจากนี้แล้วอาจจะมีการนำเข้าวัตถุดิบมาจากฐานผลิตในประเทศอื่น ๆ เพื่อส่งมอบให้ลูกค้าก็ได้ เพราะบริษัท (หมิงตี้ฯ) ไต้หวันมีฐานผลิตหลายประเทศ หรืออาจจะมีการนำเข้าวัตถุดิบ EPS มาใช้ได้เช่นกัน ส่วนในด้านราคา คาดว่าจะไม่ได้รับผลกระทบจากเรื่องเพลิงไหม้ เพราะปกติสินค้ากลุ่มนี้เป็นบายโปรดักต์ของน้ำมัน ราคาจะเป็นไปตามกลไกตลาด สะท้อนกับต้นทุนวัตถุดิบ”
รายงานข่าวกรมศุลกากรระบุว่า ปี 2563 ประเทศไทยนำเข้า polystyrene (พิกัด 3903) 248,047 ตัน มูลค่า 13,308 ล้านบาท และล่าสุดช่วง 5 เดือนแรก (ม.ค.-พ.ค.) 2564 ไทยนำเข้า polystyrene (พิกัด 3903) ปริมาณ 137,845 ตัน มูลค่า 8,831 ล้านบาท แหล่งนำเข้าหลักมาจากเกาหลีใต้ 49,305 ตัน ไต้หวัน 21,412 ตัน ญี่ปุ่น 15,634 ตัน มาเลเซีย 23,548 ตัน และจีน 12,024 ตัน