วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2566
Digital Nomad เทรนด์การทำงานยุคใหม่ พัฒนาต่อยอดจาก Work From Home หรือ Work From Anywhere ในช่วงที่เกิดวิกฤตโควิด-19 ทำให้หลายกลุ่มธุรกิจพบว่า การทำงานไม่จำเป็นต้องเข้าออฟฟิศเสมอไป ซึ่งส่วนใหญ่คนกลุ่มนี้ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว, ฟรีแลนซ์, บล็อกเกอร์, ติวเตอร์ที่สอนผ่านทางออนไลน์ รวมถึงกลุ่มพนักงานบริษัท Start-Up จำนวนมาก ทำให้กระแสของ Digital Nomad ได้รับความนิยมมากขึ้น
เรื่องที่น่าสนใจคือ กลุ่มคนทำงาน Digital Nomad ยกให้ “ประเทศไทย” เป็นสุดยอด Destinations ในเรื่องของการเป็นเมืองน่าอยู่อาศัย การท่องเที่ยว หรือเป็นบ้านหลังที่สอง เนื่องจากเป็นประเทศที่มีความเป็นมิตรต่อการใช้จ่าย โดยมี กรุงเทพฯ, เชียงใหม่ และภูเก็ต เป็นพื้นที่อันดับต้นๆ
นางสาวฟรานเชสก้า รุสโซ่ ผู้ก่อตั้ง Crypto Meetup Thailand ศูนย์รวมคอมมูนิตี้คริปโทเคอร์เรนซีในประเทศไทย ร่วมมือกับเพจเช้านี้ และ Block Mountain จัดงาน Crypto, NFT and Coffee ในหัวข้อ “เชียงใหม่พร้อมหรือยัง!! สำหรับ Digital Nomad รับฟังมุมมองจากวิทยากรภาครัฐ อติกานต์ สุทธิวงษ์ นักส่งเสริมนวัตกรรม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) National Innovation Agency (NIA) และ ปรัชญา โกมณี รักษาการผู้จัดการสาขาภาคเหนือตอนบนและหัวหน้างานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล Digital Economy Promotion Agency (Depa) ว่าทำไมเชียงใหม่ถึงเหมาะกับการทำงานของ Digital Startup และภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมอย่างไร
สำหรับประเทศไทย มีนโยบายรองรับชาวต่างชาติแบ่งออกเป็นหลายประเภท ซึ่งเรามีสมาร์ทวีซ่า (SMART Visa) แบ่งออกเป็น 4 ประเภท คือ 1. Investors นักลงทุน 2. Exclusives ผู้บริหาร 3. Talents ทำงานกับหน่วยงานภาครัฐ 4. Startups ผู้ประกอบการวิสาหกิจเริ่มต้น และมีนโยบายผลักดันให้กลุ่ม Digital Nomad ในเชียงใหม่ผันตัวมาเป็น Startups เพื่อให้ได้สมาร์ทวีซ่า ซึ่งจากฐานข้อมูลปัจจุบันมี Nomadic ในเชียงใหม่ได้สมาร์ทวีซ่าไปแล้วกว่า 10 ราย โดย NIA พยายามจัดกิจกรรมให้เกิดการแลกเปลี่ยนระหว่างคนไทยกับต่างชาติ เกิดการแลกเปลี่ยน Technology Skills เปิดโอกาสการต่อยอดธุรกิจในอนาคต
สำหรับกระบวนการในการขอสมาร์ทวีซ่า จะต้องมีเอกสารหลักฐานต่างๆ ค่อนข้างครอบคลุม โดยมีเงื่อนไขตามที่หน่วยงานระบุไว้ นอกจากนี้ในการต่อวีซ่าต้องมีพาร์ทเนอร์ทางธุรกิจถึงจะต่อวีซ่าได้ ซึ่งทางหน่วยงานมีการตรวจสอบคุณสมบัติในการจดทะเบียนบริษัทหรือความคืบหน้า และมีกฎหมายครอบคลุมว่าคนไทยจะต้องถือหุ้นมากกว่า ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้เกิดการจ้างงานในสัดส่วนที่เหมาะสม
นอกจากนี้ ด้วยเป้าหมายของประเทศเรามีแผนเศรษฐกิจดิจิทัล ในปี 2565 ตั้งเป้าไว้ว่าจะมีแรงงานดิจิทัลประมาณ 200,000 คน ปัจจุบันทำได้ประมาณ 60,000 – 70,000 คน และในปีนี้ Depa ตั้งเป้าคนที่จะเข้ามาทำงานดิจิทัลถึง 400,000 คน เพื่อรองรับอุตสาหกรรมดิจิทัลที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว
โดยเริ่มต้นวางแผนขยายที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติ ให้มาลงทุน และเริ่มเข้ามาขยายโครงการในเชียงใหม่ ให้เกิดการจ้างงานแรงงานในระดับฐานรากเยาวชนจนไปถึงระดับอุดมศึกษาที่กำลังจะเรียนจบ และกำลังเข้าสู่ตลาดแรงงาน โดย Depa เปิดกองทุนการศึกษาในอุตสาหกรรมที่ขาดแคลน ช่วยสนับสนุนในส่วนของค่าเทอมครึ่งหนึ่ง และในระหว่างที่เข้าไปทำงานเราช่วยจ่ายเงินเดือนในครึ่งหนึ่งในช่วง 1 ปีแรก
ส่วนของ Startups ตอนนี้เปิด 2 อย่างคือ 1. กองทุนสตาร์ทอัพ เอาไอเดียมานำเสนอเพื่อให้ Depa ร่วมลงทุน 2. Transformation Fund คือการนำเอาเทคโนโลยี 5G เข้าไปประยุกต์ใช้ในบริษัท ทั้ง Metaverse Healthcare สาธารณะสุข เกษตรกรรม โดยมีวงเงินให้ 1 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีโครงการ Smart City พัฒนาเทคโนโลยีให้เหมาะสมกับเมืองนั้นๆ เช่น การแก้ปัญหาน้ำท่วม การสร้างระบบนิเวศน์ใหม่ หรือทำให้เมืองน่าอยู่ ทันสมัยมากขึ้น
โดยการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้สร้างสรรค์เศรษฐกิจดิจิทัล ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมและนวัตกรรมดิจิทัลในจังหวัดเชียงใหม่ เป็นรากฐานสำคัญในการรองรับ Digital Nomad รวมถึงเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนให้เชียงใหม่ก้าวสู่การเป็นเมืองดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ